วันอังคารที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ประวัติการปกครองสมัยสุโขทัย

การปกครองสมัยสุโขทัยแบ่งออกเป็น 2 แบบดังนี้

1.แบบพ่อปกครองลูก ( ปิตุลาธิปไตย )
สุโขทัยมีลักษณะการปกครองแบบพ่อปกครองลูก ผู้ปกครองคือ พ่อขุน ซึ่งเปรียบเสมือนพ่อที่จะต้องดูแลคุ้มครองลูก ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระองค์ทรงโปรดให้สร้างกระดิ่งแขวนไว้ที่หน้าประตูพระราชวัง เมื่อประชาชนมีเรื่องเดือดร้อนก็ให้ไปสั่นกระดิ่งร้องเรียน พระองค์ก็จะเสด็จมารับเรื่องราวร้องทุกข์ และโปรดให้สร้างพระแทนมนังคศิลาอาสน์ได้กลางดงตาล ในวันพระจะนิมนต์พระสงฆ์มาเทศน์สั่งสอนประชาชน หากเป็นวันธรรมดาพระองค์จะเสด็จออกให้ประชาชนเข้าเฝ้าและตัดสินคดีความด้วยพระองค์เอง การปกครองแบบพ่อปกครองลูก(
ปิตุลาธิปไตย)ใช้ในสมัยกรุงสุโขทัยตอนต้น


2.แบบธรรมราชา
การปกครองแบบธรรมราชา หมายถึง พระราชาผู้ปฏิบัติธรรมหรือ กษัตริย์ผู้มีธรรม ในสมัยของ
พระมหาธรรมราชาที่ ๑ มีกำลังทหารที่ไม่เข้มแข็ง ประกอบกับอาณาจักรอยุธยาที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ได้แผ่อิทธิพลมากขึ้น พระองค์ทรง เกรงภัยอันตรายจะบังเกิดแก่อาณาจักรสุโขทัย หากใช้กำลังทหารเพียงอย่าง เดียว พระองค์จึงทรงนำหลักธรรมมาใช้ในการปกครอง โดยพระองค์ทรงเป็น แบบอย่างในด้านการปฏิบัติธรรม ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา นอกจากนั้นพระ มหาธรรมราชาที่ ๑ ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมเรื่อง ไตรภูมิพระร่วง ที่ปรากฏแนวคิดแบบธรรมราชาไว้ด้วย การปกครองแบบธรรมราชา ใช้ในสมัยกรุงสุโขทัยตอนปลาย ตั้งแต่พระมหาธรรมราชาที่ ๑ - ๔
ด้านการปกครองส่วนย่อยสามารถแยกกล่าวเป็น 2 แนว ดังนี้
ในแนวราบ
จัดการปกครองแบบพ่อปกครองลูก กล่าวคือผู้ปกครองจะมีความใกล้ชิดกับประชาชน ให้ความเป็นกันเองและ
ความยุติธรรมกับประชาชนเป็นอย่างมาก เมื่อประชาชนเกิดความเดือดร้อนไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องเรียนกับพ่อขุนโดยตรงได้ โดยไปสั่นกระดิ่งที่แขวนไว้ที่หน้าประตูที่ประทับ ดังข้อความในศิลาจารึกปรากฏว่า "…ในปากประตูมีกระดิ่งอันหนึ่งไว้ให้ ไพร่ฟ้าหน้าใส…" นั่นคือเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถมาสั่นกระดิ่งเพื่อแจ้งข้อร้องเรียนได้
ในแนวดิ่ง
ได้มีการจัดระบบการปกครองขึ้นเป็น 4 ชนชั้น คือ
พ่อขุน เป็นชนชั้นผู้ปกครอง อาจเรียกชื่ออย่างอื่น เช่น
เจ้าเมือง พระมหาธรรมราชา หากมีโอรสก็จะเรียก "ลูกเจ้า"
ลูกขุน เป็นข้าราชบริพาร ข้าราชการที่มีตำแหน่งหน้าที่ช่วงปกครองเมืองหลวง หัวเมืองใหญ่น้อย และภายในราชสำนัก เป็นกลุ่มคนที่ใกล้ชิดและได้รับการไว้วางใจจากเจ้าเมืองให้ปฏิบัติหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ไพร่ฟ้า
ไพร่หรือสามัญชน ได้แก่ราษฎรทั่วไปที่อยู่ในราชอาณาจักร (ไพร่ฟ้า)
ทาส ได้แก่ชนชั้นที่ไม่มีอิสระในการดำรงชีวิตอย่างสามัญชนหรือไพร่ (อย่างไรก็ตามประเด็นทาสนี้ยังคงถกเถียงกันอยู่ว่ามีหรือไม่)

ลักษณะเศรษฐกิจและการเกษตร

ลักษณะทางเศรษฐกิจ
อาณาจักรสุโขทัยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจอยู่ที่การเกษตรเป็นหลัก โดยมีการค้าและการทำเครื่องสังคโลกเป็นส่วนประกอบสำคัญ จากหลักฐานต่าง ๆ เท่าที่ได้ค้นพบและศึกษาค้นคว้ากันมาเศรษฐกิจของอาณาจักรสุโขทัยน่าจะมีเพียงแค่พอกินพอใช้ในอาณาจักรเท่านั้น มิได้มีความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์มากเท่ากับอาณาจักรอยุธยา ทั้งนี้เพราะสภาพภูมิศาสตร์และทำเลที่ตั้งของอาณาจักรสุโขทัยไม่เอื้อต่อการเพาะปลูกและการเป็นศูนย์การค้ามากเท่ากับอาณาจักรอยุธยาซึ่งมีอาณาบริเวณอยู่ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง สภาพทางเศรษฐกิจที่ไม่อุดมสมบูรณ์มากนี้เป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้อาณาจักรสุโขทัยไม่สามารถมีอำนาจทางการเมืองอยู่ได้เป็นเวลานาน




สังคมการเกษตร
การเกษตรอาณาจักรสุโขทัยมีสภาพพื้นที่ราบที่ใช้ในการเพาะปลูกแบ่งอย่างกว้าง ๆ ได้เป็น2 ลักษณะ คือ ที่ราบลุ่มแม่น้ำและที่ราบเชิงเขา บริเวณที่ราบลุ่มที่สำคัญ คือ ที่ราบลุ่มแม่น้ำยมและแม่น้ำ ซึ่งมีอาณาบริเวณตั้งแต่อุตรดิตถ์ ศรีสัชนาลัย สุโขทัย เรื่อยลงมาจนถึงนครสวรรค์พื้นที่แถบนี้มีลักษระเป็นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่และเนื่องจากลำน้ำยมและลำน้ำน่านมีปริมาณน้ำจำนวนมากไหลบ่ามาจากภูเขาทางภาคเหนือ ทำให้การระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างไม่ทันยังผลให้มีน้ำท่วมที่ราบลุ่มแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านนี้ ซึ่งบริเวณนี้ควรจะทำการเพาะปลูกได้ดีนี้กลับได้ผลไม่ดีเท่าที่ควรและทางทิศตะวันตกของเมืองสุโขทัยเรื่อยมาจนถึงเมืองกำแพงเพชร เป็นพื้นที่ดอน ดินไม่ใคร่อุดมสมบูรณ์ จึงทำให้การเพาะปลูกไม่ได้ผลดีนักจากสภาพภูมิศาสตร์ดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกษตรในอาณาจักรสุโขทัยต้องใช้ระบบชลประทานเข้ามาช่วยด้วยจุดประสงค์ 2 ประการ คือ เพื่อควบคุมน้ำที่ไหลบ่ามาจากบริเวณภูเขา และน้ำที่ล้นมาตามลำน้ำต่างๆ ให้ไหลไปตามแนวทางควบคุมบังคับที่ทำไว้หรือมิฉะนั้นก็เพื่อเก็บกักน้ำไว้ภายในหุบเขาแล้วขุดคลองระบายน้ำเข้าไปในพื้นที่ที่ทำการ เพาะปลูกเขื่อนเก็บกักน้ำที่สร้างขึ้น เพื่อประโยชน์ทางชลประทานในสมัยสุโขทัยคือเขื่อนสรีดภงด์ หรือทำนบพระร่วงเป็นเขื่อนดินขนาดใหญ่สร้างอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมืองสุโขทัย นอกจากทำนบเก็บกักน้ำแล้วยังมีการสร้างเหมืองฝายและขุดคูคลองส่งน้ำเป็นแนวยาวตั้งแต่ศรีสัชนาลัยผ่านสุโขทัยออกไปถึงกำแพงเพชรด้วยระบบชลประทานดังกล่าวข้างต้นทำให้ผืนดินโดยรอบเมืองสุโขทัยพื้นที่ระหว่าง ศรีสัชนาลัย สุโขทัย และกำแพงเพชร เป็นผืนดินอันกว้างใหญ่ที่ใช้ทำการเพาะปลูกได้
พืชสำคัญที่ปลูกกันมากในอาณาจักรสุโขทัยจนกลายเป็นพืชหลัก คือ ข้าวรองลงมา ได้แก่มะม่วง มะพร้าว มะขาม ขนุน หมากพลู พืชไร่และไม้ผลอื่นๆ ผลผลิตที่ได้คงมีปริมาณเพียงแค่การบริโภคภายในอาณาจักรเท่านั้น และคงจะไม่อุดมสมบูรณ์ถึงขั้นที่จะเลี้ยงประชากรจำนวนมาก ๆได้ในด้านรัฐบาลได้สนับสนุนให้ประชาชนทำการเพาะปลูกด้วยการยกกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้หักร้างถางพงทำการเกษตรในผืนดินต่าง ๆ และที่ดินนั้นยังเป็นมรดกตกทอดมาถึงลูกหลานได้อีกด้วย ดังปรากฏในความตอนหนึ่งของศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่า "สร้างป่าหมากผ่าพลูทั่วเมืองนี้ทุกแห่ง ป่าพร้าวก็หลายในเมืองนี้ ป่าลางก็หลายในเมืองนี้..........ใครสร้างได้ไว้แก่มัน""ไพร่ฟ้าหน้าใส ลูกเจ้าลูกขุนผู้ใดแล้ล้มตายหายหว่า เหย้าเรือนพ่อเชื้อเสื้อคำมันช้างขอ ลูกเมียเยียข้าวไพร่ฟ้าข้าไทป่าหมากป่าพลูพ่อเชื้อมัน ไว้แก่ลูกมันสิ้น"
การที่ต้องลงทุนจัดระบบชลประทานเพื่อการเพาะปลูก ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ ทางการเกษตรของอาณาจักรสุโขทัยขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่จะสามารถกักเก็บไว้ได้นานเพียงไหน และความสามารถในการบำรุงรักษาระบบชลประทาน ผลผลิตทางการเกษตรจึงไม่ใช่ผลผลิตที่คงที่ บางครั้งสุโขทัยต้องสั่งสินค้าข้าวจากดินแดนทางใต้แถบลพบุรีขึ้นไปเลี้ยงประชากรในอาณาจักร ด้วยเหตุนี้อาณาจักรสุโขทัยจึงไม่มีฐานพลังทางเศรษฐกิจที่มั่งคั่งพอที่จะตั้งตัวเป็นอาณาจักรใหญ่และมีอำนาจอยู่เป็นเวลานานได้



แบบทดสอบหลังเรียนที่นี่!!
ที่มา www.dopa.go.th/history/polith.htm

จัดทำโดย น.ส. นิรุชา พูลสวัสดิ์ ม. 4/4 เลขที่ 24

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น