วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การปกครองสมัยรัตนโกสินทร์

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.2325 และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชธานีใหม่จากกรุงธนบุรีมายังฝั่งตะวันออก(ฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา)และสร้างกรุงเทพฯ เป็นราชธานีขึ้น ณ ที่แห่งนี้
เหตุผลที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงย้ายราชธานี
1. พระราชวังเดิมของกรุงธนบุรีคับแคบ มีวัดขนาบอยู่ทั้งสองด้าน คือ วัดอรุณราชวราราม(วัดแจ้ง)และวัดโมฬีโลกยาราม (วัดท้ายตลาด) จึงยากแก่การขยายพระราชวัง
2. ความไม่เหมาะสมด้านภูมิประเทศ เนื่องจากฝั่งตะวันตกหรือราชธานีเดิมเป็นท้องคุ้ง อาจถูกน้ำกัดเซาะตลิ่งพังได้ง่าย แต่ฝั่งตะวันออก(กรุงเทพ)เป็นแหลมพื้นดินจะงอกอยู่เรื่อยๆ
3. ความไม่เหมาะสมในการขยายเมืองในอนาคต พื้นที่ฝั่งตะวันออกเป็นที่ราบลุ่มกว้างขวาง สามารถขยายตัวเมืองไปทางเหนือและตะวันออกได้
4. กรุงธนบุรีไม่เหมาะทางด้านทำเลที่ตั้งยุทธศาสตร์ กล่าวคือ มีแม่น้ำเจ้าพระยาผ่ากลาง เปรียบเสมือนเมืองอกแตก เมื่อใดข้าศึกยกทัพมาตามลำน้ำก็สามารถตีถึงใจกลางเมืองได้ง่าย
เมืองหลวงใหม่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

บริเวณ เมืองหลวงใหม่ เดิมเรียกว่า บางกอก หรือปัจจุบันคือกรุงเทพมหานครเป็นราชธานีใหม่ของไทย สร้างขึ้นโดยเลียนแบบอยุธยา กำหนดพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วนคือ
บริเวณพระบรมมหาราชวัง ประกอบด้วย วังหลวง วังหน้า วัดในพระบรมมหาราชวัง(วัดพระศรีรัตนศาสดาราม)และรวมทั้งทุ่งพระสุเมรุท้องสนามหลวง
บริเวณที่อยู่อาศัยภายในกำแพงเมือง อาณาเขตกำแพงเมือง ประตูเมือง และป้อมปราการสร้างขึ้นตามแนวคลองรอบกรุง ได้แก่ คลองบางลำภู และคลองโอ่งอ่าง
บริเวณที่อยู่อาศัยภายนอกกำแพงเมือง เป็นพื้นที่เกษตรกรรม มีบ้านเรือนราษฏรตั้งอยู่ด้านนอกของคลองรอบกรุง มีคลองขุดในรัชกาลที่ 1คือ คลองมหานาค
ในสมัยรัชกาลที่ 1-3 พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ การจัดระเบียบการปกครองยังคงยึดถือตามแบบอย่างสมัยอยุธยาตอนปลาย มีดังนี้


การปกครองส่วนกลาง มีเสนาบดีทำหน้าที่บริหารราชการ ได้แก่
สมุหกลาโหม มีอำนาจบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายใต้ ทั้งทหารและพลเรือน มียศและราชทินนามว่า เจ้าพระยามหาเสนา ใช้ตราคชสีห์ เป็นตราประจำตำแหน่ง
สมุหนายก มีอำนาจบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือ ทั้งกิจการทหารและพลเรือนเทียบเท่ากระทรวงมหาดไทยในปัจจุบัน มียศและราชทินนามว่า เจ้าพระยาจักรี หรือเจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิต ใช้ตราราชสีห์เป็นตราประจำตำแหน่ง

เสนาบดีจตุสดมภ์ เป็นตำแหน่งรองลงมา ประกอบด้วย
-กรมเวียง หรือกรมเมือง เสนาบดี คือ พระยายมราช มีหน้าที่ดูแลกิจการทั่วไปในพระนคร
-กรมวัง เสนาบดี คือ พระยาธรรมา มีหน้าที่ดูแลพระราชวังและตั้งศาลชำระความ
-กรมคลังหรือกรมท่า เสนาบดี คือ พระยาราชภักดี, พระยาศรีพิพัฒน์ หรือพระยาพระคลังมีหน้าที่ด้านการเงิน การคลัง และการต่างประเทศ
-กรมนา เสนาบดี คือ พระยาพลเทพ มีหน้าที่ดูแลไร่นาหลวง และเก็บภาษีข้าว

การปกครองส่วนภูมิภาค หรือการปกครองหัวเมือง
หัวเมืองฝ่ายเหนือ (รวมทั้งหัวเมืองอีสาน)อยู่ในความรับผิดชอบของสมุหนายก หัวเมืองฝ่ายเหนือแบ่งฐานะตามระดับความสำคัญ ดังนี้
-หัวเมืองชั้นใน(หัวเมืองจัตวา) อยู่ไม่ห่างไกลจากราชธานี มีเจ้าเมือง หรือ "ผู้รั้ง"เป็นผู้ปกครอง
-หัวเมืองชั้นนอก(เมืองชั้นตรี โท เอก) มีขุนนางชั้นสูงหรือพระบรมวงศานุวงศ์เป็นผู้ปกครอง ได้แก่ เมืองพิษณุโลก นครสวรรค์ พิจิตร ฯลฯ
หัวเมืองฝ่ายใต้ อยู่ในความรับผิดชอบของสมุหกลาโหม นับตั้งแต่เมืองเพชรบุรีลงไปจนถึงนครศรีธรรมราช ไชยา พังงา ถลาง และสงขลา เป็นต้น มีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นนอกทั้งสิ้น
หัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกของอ่าวไทย
เป็นหัวเมืองชั้นนอก ได้แก่ นนทบุรี สมุทรปราการ สาครบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ฯลฯ อยู่ในความรับผิดชอบของพระคลังหรือกรมท่า
การปกครองประเทศราช
ฐานะของประเทศราช คือ เมืองของชนต่างชาติต่างภาษา มีกษัตริย์ของตนเองเป็นผู้ปกครอง มีหน้าที่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายตามกำหนดและส่งทหารมาช่วยเมื่อเมืองหลวงมีศึกสงคราม
ประเทศราชของไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีทั้งดินแดนล้านนา ลาว เขมรและหัวเมืองมลายู ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงแสน หลวงพระบาง เวียงจันทน์ จำปาศักดิ์ เขมร ปัตตานี ไทรบุรี กลันตัน ฯลฯ

การปรับปรุงกฏหมายและการศาล
กฏหมายตราสามดวง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯให้รวบรวมและชำระกฏหมายเก่าที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และคัดลอกไว้ 3 ฉบับ ทุกฉบับประทับตราคชสีห์ ราชสีห์ และตราบัวแก้ว จึงเรียกว่ากฏหมายตราสามดวง
กฏหมายตราสามดวง หรือประมวลกฏหมายรัชกาลที่ 1 ใช้เป็นหลักปกครองประเทศมาจนถึงรัชกาลที่ 5 ก่อนที่จะมีการปฏิรูปกฏหมายไทยและการศาลให้เป็นระบบสากล
จัดทำโดย น.ส. นิรุชา พูลสวัสดิ์ เลขที่24 ชั้นม.4/4