วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การปฏิรูปการปกครองสมัยรัชกาลที่ 5

การปฏิรูปการบริหาร (Administrativereform) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี
พ.ศ. 2435 นี้นับว่าเป็นการปฏิรูปการปกครองการบริหารที่สำคัญของชาติไทยและนำความเจริญรุ่งเรืองนานัปมาสู่ประเทศชาติและปวงชาวไทย
สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงปฏิรูปการปกครองแผ่นดินอย่างขนานใหญ่ ควบคู่ไปกับการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคม เช่น การปรับปรุงระบบบริหารงานคลังและภาษีอากร จัดตั้งกระทรวงต่างๆขึ้น เป็นต้น
มูลเหตุสำคัญที่ผลักดันให้มีการปฏิรูปการปกครอง มีอยู่ 2 ประการ คือ
1. มูลเหตุภายใน
- ประเทศไทยมีประชากรเพิ่มขึ้น
- การคมนาคมและการติดต่อสื่อสารเริ่มมีความทันสมัยมากขึ้น
- การปกครองแบบเดิมจะมีผลทำให้ประเทศชาติขาดเอกภาพในการปกครอง
2. มูลเหตุภายนอก
- หากไม่ทรงปฏิรูปการปกครองแผ่นดินย่อมจะเป็นอันตรายต่อเอกราชของชาติ เพราะขณะนั้น จักรวรรดินิยมตะวันตก ได้เข้ามาแสวงหาอาณานิคม

การปกครองส่วนกลาง
ทำการปฏิรูปโดยจัดตั้งหน่วยราชการใหม่ เรียกว่า กระทรวง ซึ่งมี ๑๒ กระทรวง ใน พ.ศ.๒๔๓๕ แต่ละกระทรวงมีเสนาบดีรับผิดชอบงานของกระทรวงนั้นๆ กระทรวงต่างๆ ในสมัยปฏิรูปการปกครองแผ่นดินมีดังนี้ ๑.กระทรวงมหาดไทย
มีหน้าที่บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือ และเมืองลาวประเทศราช
๒.กระทรวงกลาโหม
มีหน้าที่บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายใต้ ฝ่ายตะวันออก และเมืองมลายูประเทศราช
๓.กระทรวงการต่างประเทศ
มีหน้าที่เกี่ยวกับการต่างประเทศ
๔.กระทรวงวัง
มีหน้าที่รับผิดชอบราชการในพระราชวัง และกรมที่เกี่ยวข้องกับราชการในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
๕.กระทรวงนครบาล
มีหน้าที่เกี่ยวกับกิจการตำรวจ และราชทัณฑ์ ต่อมาให้รับผิดชอบราชการในเขตแขวงกรุงเทพฯ ราชธานี
๖.กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ
มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการเก็บภาษีอากร และเงินที่เป็นรายรับและรายจ่ายในแผ่นดิน
๗.กระทรวงยุติธรรม
มีหน้าที่บังคับศาลที่ชำระความทั่วทั้งประเทศทั้งแพ่ง อาญา และอุทธรณ์
๘.กระทรวงยุทธนาธิการ
มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการทหารบก และทหารเรือ
๙.กระทรวงเกษตราธิการ
มีหน้าที่เกี่ยวกับการเพาะปลูก การป่าไม้ การทำเหมืองแร่ และการค้าขาย
๑๐.กระทรวงธรรมการ
มีหน้าที่เกี่ยวกับการศาสนา การศึกษา และการสาธารณสุข
๑๑.กระทรวงโยธาธิการ
มีหน้าที่เกี่ยวกับกิจการก่อสร้าง ทำถนน ขุดคลอง การช่างทั่วไป การไปรษณีย์โทรเลข และการรถไฟ ซึ่งวางแผนไว้ว่าจะมีขึ้นภายหลัง
๑๒.กระทรวงมุรธาธิการ
มีหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาตราแผ่นดิน รักษาพระราชกำหนดกฎหมายและงานหนังสือราชการทั้งปวง
ยิ่งกว่านั้น ยังได้ทรงตั้งสภาที่ปรึกษาขึ้น ๒ สภา ก็คือ
๑.รัฐมนตรีสภา
๒.องคมนตรีสภา

การปกครองส่วนภูมิภาค
๑.มณฑลเทศาภิบาล
เป็นหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุด ประกอบด้วยเมืองตั้งแต่สองเมืองขึ้นไป มีข้าหลวงเทศาภิบาล หรือสมุหเทศาภิบาล ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งเป็นผู้รับผิดชอบ โดยมีตัวแทนของกระทรวงอื่นๆ เป็นผู้ช่วยในการปฏิบัติราชการ
๒.เมือง
หรือจังหวัดในปัจจุบัน มีผู้ว่าราชการเมืองเป็นผู้รับผิดชอบ ขึ้นกับข้าหลวงเทศาภิบาลโดยตรง โดยมีข้าราชการอื่นๆ เป็นผู้ช่วย
๓.อำเภอ
มีนายอำเภอซึ่งผู้ว่าราชการเมืองแต่งตั้งเป็นผู้รับผิดชอบ
๔.ตำบล
มีกำนันซึ่งได้รับเลือกตั้งมาจากผู้ใหญ่บ้าน และผู้ว่าราชการเมืองแต่งตั้ง เป็นผู้รับผิดชอบ
๕.หมู่บ้าน
มีผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งราษฎรเลือกตั้งมา เป็นผู้รับผิดชอบ

การปกครองแบบท้องถิ่น
ทรงเล็งเห็นคุณประโยชน์ของการส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง จึงได้ทรงให้มีการปกครองท้องถิ่นโดยการจัดตั้งสุขาภิบาลท่าฉลอมขึ้นเป็นแห่งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๘ ในระยะต่อมา จึงได้มีการจัดตั้งสุขาภิบาลขึ้น ถึง ๓๕ แห่ง การปกครองท้องถิ่นในรูปสุขาภิบาลนี้ เป็นการร่วมมือกันระหว่างหัวหน้าหน่วยราชการตำแหน่งต่างๆ ในท้องที่ กับกรรมการอื่นๆ ที่ราษฎรเป็นผู้เลือกขึ้นมา หน้าที่สำคัญๆ ของสุขาภิบาลได้แก่ การรักษาความสะอาด การให้การศึกษาขั้นต้นแก่ราษฎร การอนามัย และการบำรุงรักษาถนนหนทาง
การปกครองระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทย ได้ดำรงอยู่จนถึง พ.ศ.๒๔๗๕ จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงมาสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ มีข้าราชการทหารและพลเรือนกลุ่มหนึ่ง ได้แก่การปฏิวัติขึ้น โดยทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงการปกครองดังกล่าว มีดังนี้
๑. เกิดจากอิทธิพลของการมีแนวความคิดในเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่บ้านข้าราชการที่ได้รับการศึกษามาจากยุโรป
๒. ฐานะทางการคลังของรัฐบาลเกิดทรุดลง ทำให้ต้องตัดรายจ่ายในด้านต่างๆ ลง ซึ่งรวมถึงบัญชีเงินเดือนของข้าราชการฝ่ายต่างๆ ด้วยจึงเกิดความไม่พอใจขึ้นมา
๓. คณะผู้ก่อการหลายคน มีความรู้สึกว่า ตนไม่ได้รับการยอมรับในความสามารถจากเจ้านายบางพระองค์ คณะผู้ก่อการ ซึ่งเรียกว่าตัวเองว่า
"คณะราษฎร" ได้จัดตั้งรัฐบาลขึ้น โดยมีพระยามโนปกรณ์ นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก ได้ประกาศให้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ใช้รูปแบบการปกครองระบบรัฐสภา
จัดทำโดย นางสาวนิรุชา พูลสวัสดิ์ เลขที่ 24 ชั้น ม.4/4

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น